เจาะลึกผู้พัฒนา: เอกลักษณ์ประจำคลาส หอเกียรติยศ และการ์ดคลาสสิคใบใหม่
ยิ่ง Hearthstone ขยับขยาย และยิ่งมีแขกมาเยือนโรงเตี๊ยมมากขึ้น เราก็ยิ่งต้องแวะเวียนกลับไปตรวจสอบการออกแบบในอดีตเพื่อทำให้แน่ใจว่าเรากำลังพัฒนาเกมบนรากฐานที่มั่นคง จากการเติบโตและวิวัฒนาการของเกมตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เราก็ได้เรียนรู้มามากว่าสิ่งใดทำให้คลาสแต่ละคลาสใน Hearthstone มีความแตกต่างกัน และผู้เล่นควรได้รับประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างไรเมื่อเล่นคลาสเหล่านั้น เราจึงอยากใช้โอกาสในการอัพเดตครั้งถัดไปเพื่ออธิบายแนวคิดของเราเกี่ยวกับเอกลักษณ์ประจำคลาส และอนาคตของแต่ละคลาสว่าควรมุ่งหน้าไปทิศทางใด
การกำหนดเอกลักษณ์ประจำคลาส
ในการกำหนดเอกลักษณ์ประจำคลาสแต่ละคลาส เรามีแนวทางสามประการที่เราคำนึงถึง ได้แก่ ความเหมาะสมกับ “แฟนตาซี” หรือภาพลักษณ์ของคลาส กำหนดจุดเด่นที่คลาสนั้นทำได้ดี และกำหนดจุดด้อยที่เป็นปัญหาของคลาสนั้น
เมื่อพูดถึงภาพลักษณ์ของแต่ละคลาส เราอยากให้ผู้เล่นรู้สึกถึงความเป็นคลาสนั้นๆ ผ่านการเล่นเกม ยกตัวอย่างเช่น การมุ่งหน้าเข้าสู่สนามรบด้วยตนเองในฐานะวอริเออร์ การใช้เวทมนตร์ทำลายล้างที่ทรงพลังในฐานะเมจ หรือการวางแผนที่แยบยลและสมบูรณ์แบบในฐานะโร้ก เมื่อเรารู้ว่าสิ่งใดเหมาะสมกับคลาส เราก็สามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าการ์ดใบใดจะเหมาะสมและส่งเสริมภาพลักษณ์ของคลาสนั้นได้ดีกว่า
การสร้างเอกลักษณ์ประจำคลาสที่แข็งแกร่งมีวัตถุประสงค์หลายประการ หากคลาสมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน เราก็จะมีอิสระในการสร้างกลไกเกมใหม่ๆ มากขึ้น เราสามารถออกแบบสิ่งที่มีระดับพลังสูง เพราะเรารู้ว่าคลาสนั้นมีจุดด้อยที่จะช่วยชดเชยพลังดังกล่าวได้ นอกจากนี้ จุดเด่นและจุดด้อยของคลาสที่ชัดเจนยังช่วยก่อให้เกิดการวางแผนแก้ทางมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากคุณรู้ว่าจุดด้อยของดรูอิดคือการจัดการกับมินเนี่ยนตัวใหญ่ๆ คุณก็จะสามารถวางแผนของคุณได้ตั้งแต่เริ่มเกมนั้นโดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าคู่ต่อสู้ของคุณกำลังใช้เด็คใดอยู่
จุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละคลาส
เรามีแนวคิดของคลาสแต่ละคลาสดังนี้:
จุดเด่น: สิ่งที่คลาสทำได้ดี
ข้อจำกัด: สิ่งที่คลาสอาจทำได้บ้าง แต่การ์ดที่ทำสิ่งนี้ได้มีจำนวนน้อยและมีระดับพลังจำกัด
จุดด้อย: สิ่งที่คลาสทำไม่ได้เลย หรือต้องพยายามอย่างมากเพื่อทำสิ่งนี้
ดรูอิด: ดรูอิดผู้ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ ใช้เวทมนตร์แห่งพงไพร สัตว์ขนาดยักษ์ และฝูงสิ่งมีชีวิตในป่า การ์ดหลายใบของดรูอิดมีความยืดหยุ่น และสามารถเลือกที่จะใช้เพื่อเน้นเกมรับหรือเกมรุก อย่างไรก็ตาม ดรูอิดมักจะประสบปัญหาในการจัดการกับมินเนี่ยนบนสนามฝั่งคู่ต่อสู้
- จุดเด่น: การสร้างมานา มินเนี่ยนค่าพลังสูง ฝูงมินเนี่ยน การจั่วการ์ด มินเนี่ยนสัตว์
- จุดด้อย: การกำจัดมินเนี่ยนค่าพลังสูง การเคลียร์สนาม
ฮันเตอร์: ฮันเตอร์ใช้ไหวพริบ ความดุดัน และกองทัพสัตว์เคียงข้างเพื่อทำลายศัตรู ถึงแม้การป้องกันจะไม่ดีนัก แต่หากฮันเตอร์รุกหนักพอ ก็คงไม่จำเป็นต้องใช้การ์ดป้องกันใดๆ การใช้การ์ดกับดักและมินเนี่ยนเสียงสุดท้ายให้ถูกจังหวะจะช่วยให้ฮันเตอร์สร้างความได้เปรียบเหนือคู่ต่อสู้
- จุดเด่น: มินเนี่ยนสัตว์ การสร้างความเสียหายใส่ฮีโร่ศัตรู กับดัก มินเนี่ยนเสียงสุดท้าย
- ข้อจำกัด: การจั่วการ์ดและการสร้างการ์ด การเคลียร์สนาม มินเนี่ยนยั่วยุ
- จุดด้อย: การฟื้นฟูพลังชีวิต
เมจ: เมจเข้าใจศาสตร์แห่งมนตราอย่างถ่องแท้ และใช้เวทมนตร์หลากหลายชนิดเพื่อจัดการกับคู่ต่อสู้ทุกรูปแบบ ถึงจะไม่มีเวทมนตร์ป้องกันตัวมากนัก แต่เมจที่ดีก็มักจะมีการ์ดตอบรับสถานการณ์ที่เหมาะสม แต่ถึงจะไม่มีการ์ด ณ ขณะนั้น เมจที่ยิ่งใหญ่ก็จะสามารถสร้างการ์ดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ขึ้นมาได้
- จุดเด่น: เวทมนตร์ (ค่าร่ายสูงและต่ำ) เวทมนตร์สร้างความเสียหาย กับดัก การเคลียร์สนาม การสร้างการ์ดแบบสุ่ม
- ข้อจำกัด: ฝูงมินเนี่ยน
- จุดด้อย: การฟื้นฟูพลังชีวิต มินเนี่ยนยั่วยุ การเสริมพลังมินเนี่ยน
พาลาดิน: พาลาดินคือผู้กล้าที่สนับสนุนมินเนี่ยนด้วยการ์ดเสริมพลัง การฟื้นฟูพลังชีวิต และโล่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็พร้อมที่จะลงสนามรบด้วยตนเองในยามจำเป็น พาลาดินควบคุณสถานการณ์ผ่านการ์ดลดพลังมินเนี่ยนฝ่ายตรงข้ามและการรุมโจมตีแทนการใช้เวทมนตร์ทำลายล้าง ความแข็งแกร่งและความไม่ย่อท้อคือหัวใจสำคัญที่จะนำพาลาดินไปสู่ชัยชนะ
- จุดเด่น: ฝูงมินเนี่ยน การเสริมพลังและการลดพลังมินเนี่ยน การฟื้นฟูพลังชีวิต โล่ศักดิ์สิทธิ์ กับดัก
- ข้อจำกัด: การลดค่าร่าย
- จุดด้อย: เวทมนตร์สร้างความเสียหายโดยตรง การทำลายมินเนี่ยนค่าพลังสูงๆ
พรีสต์: พรีสต์รักษาสมดุลระหว่างแสงศักดิ์สิทธิ์และเวทมนตร์มืดเพื่อจัดการคู่ต่อสู้ พรีสต์ควบคุมสนามรบด้วยเวทมนตร์ทรงพลังที่มีเงื่อนไขเฉพาะเจาะจง ถึงแม้จะไม่ได้เน้นเกมรุกหนัก แต่พรีสต์ก็สามารถสร้าง ก๊อปปี้ และใช้การ์ดเพื่อสร้างกองทัพมินเนี่ยนของตนได้เช่นกัน
- จุดเด่น: การฟื้นฟูพลังชีวิต เวทมนตร์ที่มีเป้าหมายเฉพาะแต่ทรงพลัง การก๊อปปี้การ์ด การเสริมพลังมินเนี่ยนหนึ่งตัว มินเนี่ยนเสียงสุดท้าย
- ข้อจำกัด: การจั่วการ์ด
- จุดด้อย: เวทมนตร์สร้างความเสียหายให้ฮีโร่ศัตรู การเสริมพลังมินเนี่ยนคราวละหลายๆ ตัว
โร้ก: โร้กซ่อนกายในเงามืด วางแผนและรอเวลาจู่โจมที่เหมาะสม ถึงแม้จะเงียบเชียบและว่องไว แต่โร้กก็ไม่มีตัวเลือกในการป้องกันตัวและฟื้นฟูมากนัก ทำให้เป้าหมายหลักของโร้กคือการจัดการกับคู่ต่อสู้อย่างรวดเร็ว ความสามารถในการสร้างการ์ด จั่วการ์ด และขโมยการ์ดทำให้โร้กสามารถทำคอมโบได้หลากหลาย
- จุดเด่น: การ์ดคอมโบ การทำลายมินเนี่ยนหนึ่งตัว การจั่วการ์ด อาวุธ มินเนี่ยนเสียงสุดท้าย
- จุดด้อย: มินเนี่ยนยั่วยุ การฟื้นฟูพลังชีวิต การเคลียร์สนาม การเสริมพลังมินเนี่ยนคราวละหลายๆ ตัว
ชาแมน: ชาแมนใช้พลังแห่งธาตุควบคู่ไปกับโทเท็มคู่ใจ ถึงแม้จะสร้างทรัพยากรได้ไม่ไวเท่าเมจ แต่ชาแมนก็สามารถเรียกสายฟ้าเพื่อโอเวอร์โหลดคริสตัลมานาของตนเพื่อแลกกับการใช้การ์ดที่ทรงพลังเร็วกว่าคลาสอื่นๆ การ์ดเหล่านี้บังคับให้ชาแมนต้องวางแผนล่วงหน้าหลายเทิร์น แต่ก็ถือเป็นรางวัลตอบแทนให้กับผู้เล่นที่จัดการกับการใช้มานาได้ดีพอ นอกจากนี้ ชาแมนยังมีเครื่องมือสำหรับรับมือกับสถานการณ์ที่หลากหลาย แม้จะไม่หลากหลายเท่าการ์ดเลือกหนึ่งอย่างของดรูอิด แต่ชาแมนก็สามารถเพิ่มความสามารถของการ์ดที่มีในรูปแบบที่คลาสอื่นไม่อาจทำได้
- จุดเด่น: ฝูงมินเนี่ยน เวทมนตร์สร้างความเสียหาย โทเท็ม มินเนี่ยนวิญญาณธาตุ มินเนี่ยนเมอร์ล็อค
- จุดด้อย: การจั่วการ์ด การสร้างการ์ด
วอร์ล็อค: บางครั้งคุณก็ต้องเสียสละบางสิ่งเพื่ออำนาจและพลัง ยิ่งถ้าคุณเป็นวอร์ล็อคที่อาศัยพลังของปีศาจ การเสียสละก็แทบเป็นสิ่งที่เป็นกิจวัตรประจำเกมไปเลย แน่นอนว่าวอร์ล็อคยินดีที่จะมอบทุกสิ่ง (รวมถึงพลังชีวิตของตนเอง) เพื่อจัดการกับคู่ต่อสู้ของตน พลังในการเลือกจั่วการ์ดเพิ่มทุกเทิร์น (แลกกับพลังชีวิตเล็กน้อย) ทำให้วอร์ล็อคมีพลังและการ์ดให้ใช้อย่างไม่ขาดสาย
- จุดเด่น: ความสามารถทรงพลังที่ต้องแลกกับบางสิ่ง การจั่วการ์ด ฝูงมินเนี่ยน การก่อกวนสนาม มินเนี่ยนปีศาจ
- จุดด้อย: เวทมนตร์สร้างความเสียหายให้ฮีโร่ศัตรู การฟื้นฟูพลังชีวิตคราวละมากๆ
วอริเออร์: วอริเออร์กระหายการต่อสู้ในสนามรบ เนื่องจากเป็นคลาสที่เน้นการต่อสู้ระยะประชิด วอริเออร์จึงใช้เกราะ อาวุธ และมินเนี่ยนเพื่อทำลายคู่ต่อสู้ของตน มินเนี่ยนที่ต่อสู้เคียงข้างกับวอริเออร์มักจะมีความทนทานกว่าปกติ และการ์ดที่มีคีย์เวิร์ดจู่โจมและยั่วยุก็ช่วยให้วอริเออร์สามารถควบคุมทิศทางของการต่อสู้ได้
- จุดเด่น: เกราะ อาวุธ มินเนี่ยนยั่วยุ การทำลายมินเนี่ยน
- ข้อจำกัด: การจั่วการ์ดและการสร้างการ์ด
- จุดด้อย: เวทมนตร์สร้างความเสียหายให้ฮีโร่ศัตรู การเสริมพลังมินเนี่ยนคราวละหลายๆ ตัว ฝูงมินเนี่ยน
เป็นกลาง: การ์ดเป็นกลางเปิดโอกาสให้คลาสต่างๆ สามารถเสริมจุดเด่นของตนเพื่อเป้าหมายของเด็ค หรือปิดจุดด้อยของคลาส ตัวอย่างเช่น พาลาดินอาจเลือกเพิ่มมินเนี่ยนเมอร์ล็อคเป็นกลางเพื่อช่วยเสริมเด็ค หรือฮันเตอร์อาจเลือกใช้การ์ดเป็นกลางที่มีความสามารถฟื้นฟูพลังชีวิตเพื่อให้เอาตัวรอดได้นานขึ้น การ์ดเหล่านี้มักมีระดับพลังที่ต่ำกว่าการ์ดประจำคลาส ทำให้ไม่สามารถใช้การ์ดเหล่านี้เพื่อปิดจุดด้อยทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์
การจัดการปัญหาเกี่ยวกับเอกลักษณ์
เมื่อเราตรวจสอบและกำหนดว่าแต่ละคลาสควรเป็นไปในทิศทางใด เราก็พบกับการ์ดหลายใบที่ไม่สอดคลองกับเอกลักษณ์ประจำคลาสที่เรากำหนดไว้ เราจะยังคงปรับการ์ดพื้นฐานและการ์ดในชุดคลาสสิคตามความจำเป็นต่อไป แต่สำหรับการอัพเดตนี้ เราได้ตัดสินใจที่จะจัดการกับการ์ดสองใบ ได้แก่ ระเบิดจิต (Mind Blast) และหายตัว (Vanish)
ถึงแม้เราจะคิดว่าโร้กเหมาะกับการ์ดกำจัดเป้าหมายเพื่อหลบหลีกสถานการณ์ลำบาก แต่หายตัวแทบจะทำให้โร้กสามารถเคลียร์มินเนี่ยนได้ทั้งสนาม ความสามารถเช่นนี้ขัดกับจุดด้อยที่เราคิดไว้ ทำให้เราไม่สามารถออกแบบการ์ดใบอื่นๆ ที่จะเสริมจุดเด่นของคลาส และทำให้ผู้เล่นไม่สามารถวางแผนได้มากนักเมื่อต้องสู้กับโร้ก
ระเบิดจิตทำให้พรีสต์สามารถสร้างความเสียหายจำนวนมากให้ฮีโร่ศัตรู เราต้องการจำกัดความเสียหายที่พรีสต์สามารถสร้างได้จากการ์ดในมือ ซึ่งจะทำให้เราสามารถออกแบบการ์ดที่ช่วยส่งเสริมจุดเด่นของพรีสต์ในการควบคุมเกม
เราจะแทนที่การ์ดทั้งสองใบนี้ด้วยการ์ดที่มีความสามารถเหมาะสมกับภาพลักษณ์หลักของคลาสกว่าเดิม:
สำหรับพรีสต์ เราเพิ่มแสงสว่างไสว (Radiance) เพราะเราต้องการให้มีเวทมนตร์ค่าร่ายต่ำสำหรับใช้ควบคู่กับเวทมนตร์ใบอื่น และในขณะเดียวกันก็เป็นการ์ดสำหรับฟื้นฟูพลังชีวิตระดับพื้นฐานที่ทรงพลังสำหรับคลาส สำหรับโร้ก เราเพิ่มผู้สร้างโรคร้าย (Plaguebringer) เพื่อเพิ่มวิธีในการทำลายมินเนี่ยน และเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของโร้กว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้พิษ
เนื่องจากเหล่านี้เป็นการ์ดพื้นฐานและคลาสสิค (ดังนั้นจึงไม่มีการผลัดเปลี่ยนออกจากรูปแบบมาตรฐาน) เราจึงออกแบบการ์ดอย่างระมัดระวังให้มีระดับพลังที่เหมาะสม เพื่อให้ Hearthstone รู้สึกสดใหม่ทุกๆ ปี ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการเพิ่มความสามารถที่เข้ากันได้ดีกับคลาสนั้น และเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ที่เหมาะสม
การเพิ่มการ์ดใหม่ในชุดคลาสสิค
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรารักษาเอกลักษณ์ประจำคลาสและเมต้าเกมที่มีชีวิตชีวาด้วยการย้ายการ์ดในชุดคลาสสิคบางใบที่ได้รับความนิยมมากเกินไปหรือเป็นการ์ดที่จำกัดการออกแบบการ์ดใบอื่นเข้าสู่หอเกียรติยศ และเพิ่มการ์ดใหม่เข้าสู่ชุดนี้เมื่อเวลาเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ในปี 2017 เราย้ายแร็กนารอส เจ้าแห่งเพลิง (Ragnaros, Firelord) และซิลวานัส วินด์รันเนอร์ (Sylvanas Windrunner) เข้าสู่หอเกียรติยศ และเราก็เพิ่งย้ายสวรรค์ประทานพร (Divine Favor) น้ำแข็งสกัดกั้น (Ice Block) และการ์ดอื่นๆ อีกหลายใบเข้าสู่หอเกียรติยศเมื่อไม่นานมานี้ ในช่วงใกล้เปิดให้เล่น Rastakhan's Rumble ในปี 2018 เราได้เพิ่มการ์ดใหม่ลงในชุดคลาสสิค เช่น ขโมย (Pilfer) แท่งน้ำแข็ง (Icicle) และตำราแห่งปัญญา (Tome of Intellect)
เราประเมินความโดดเด่นและผลกระทบของการ์ดจากทุกชุดอยู่เสมอ รวมถึงการ์ดพื้นฐานและการ์ดในชุดคลาสสิค และเราจะเปลี่ยนแปลงการ์ดเหล่านี้ต่อไปหากเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดเมต้าเกมที่มีชีวิตชีวามากขึ้นและทำให้ผู้เล่นมีประสบการณ์ที่ดีในการเล่นเกมมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจมาในรูปแบบของการย้ายการ์ดเข้าสู่หอเกียรติยศ หรือด้วยการเพิ่มการ์ดใหม่ที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเลือกที่สดใหม่สำหรับผู้เล่นในขณะที่ไม่ทำลายสมดุลเกม
เมื่อเราย้ายการ์ดคลาสสิคเข้าสู่หอเกียรติยศ เราก็มองหาโอกาสเพิ่มการ์ดใหม่เข้าสู่ชุดนี้เพื่อรักษาปริมาณการ์ดที่หาได้ง่ายให้เหมาะสมกับผู้เล่นที่เล่นเกมในรูปแบบมาตรฐาน เราได้ใช้เวลาพัฒนาและออกแบบการ์ดใหม่สำหรับชุดคลาสสิคมาสักพักแล้ว และเราก็รู้สึกว่าตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะเพิ่มการ์ดเหล่านี้เข้าสู่เกม
ต่อไปนี้คือการ์ดใหม่ที่คุณสามารถเป็นเจ้าของได้ในซองการ์ดคลาสสิค (และจากการสร้างการ์ดโดยใช้ผงเวทมนตร์) เริ่มตั้งแต่การอัพเดตใหญ่ครั้งถัดไป:
เรายินดีรับฟังความคิดเห็นของคุณเสมอ ดังนั้นเราจึงอยากแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะมีผลในเกม
บอกให้เรารู้ว่าคุณคิดอย่างไรในช่องความคิดเห็นด้านล่าง หรือผ่านทางฟอรัม Hearthstone ได้เลย ขอขอบคุณที่มาเล่นเกมของเรา!